IWC Da Vinci : The Rise of The Perpetual Calendar

     เคยทราบกันไหมครับว่าครั้งหนึ่ง ระบบปฏิทิน Perpetual Calendar ที่เราเห็นกันจนคุ้นตาในปัจจุบันนั้น เป็นดังไข่ทองคำในหินที่ถูกยกย่องในด้านความซับซ้อนระดับสูง ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการประกอบด้วยจำนวนชิ้นส่วนที่มีมากมาย อีกทั้งยังมีขนาดเล็กยากต่อการตรวจสอบการจัดวาง,​ บาลานซ์ของชิ้นส่วนด้วยสายตา ในยุคที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์และเซ็นเซอร์ช่วย อีกทั้งยังไม่ทนต่อแรงสั่นสะเทือนได้มากเท่าในปัจจุบัน เรียกว่าเป็นการได้เป็นเจ้าของนาฬิกา Perpetual Calendar สักเรือน ต้องมีกำลังทรัพย์มหาศาลเพื่อจ่ายค่าตัวและการซ่อมบำรุงอย่างมหาศาลตลอดเวลาที่ครอบครองเลยทีเดียว

kurt-klaus-iwc-da-vinci-perpetual-calendar

“When I made the Perpetual Calendar, I didn’t know exactly what a computer was. I made all my sketches on the drawing board. I made the prototypes and after manually making the calculations.” (ตอนคิดน่ะ ปู่ไม่มีหรอกคอม ใช้แค่กระดานวาดรูปกับสมองบวกลบคูณหารเอาเอง) - คุณปู่เหลาให้ฟัง

     จนกระทั่งในปี 1985 ได้มีชายคนหนึ่งประสบความสำเร็จในการคิดค้นและปรับปรุงระบบปฏิทิน Perpetual Calendar ทั้งระบบ กลไกสามารถกระโดดข้ามวันที่ 30/31 ของแต่ละเดือนได้, รู้ว่ากุมภาพันธ์ในปีนั้นๆ 28/29 วัน และสามารถบอกวันเวลาแม่นยำไปได้อีกหลายร้อยปีหลังจากการตั้งค่าเรียบร้อย ชายคนดังกล่าวถึงขั้นได้รับฉายาให้เป็น “เทพโพรมิธิอุสแห่งโลกเวลา” เชียวนะครับ แสดงถึงการก้าวกระโดดครั้งสำคัญของโลกเวลาอีกครั้ง และชื่อของชายคนนั้นคือ “Kurt Klaus” หัวหน้าทีมวิศวกรกลไกนาฬิกาของ IWC นั่นเองครับ

Caliber 79261 / Moonphase pocket watch 5250

การเดินทางของเทพโพรมิธิอุสแห่งโลกเวลา

      คุณปู่ Kurt Klaus เป็นชาวสวิสโดยกำเนิด เขามุ่งหน้าศึกษาวิศวกรรมทางเวลาอย่างเต็มตัวก่อนจะข้ามฝากไปเยอรมัน เพื่อร่วมงานกับ Albert Pellaton นักประดิษฐ์กลไกในตำนานอีกคนที่ IWC ก่อนที่คุณปู่จะให้กำเนิดกลไก Perpetual Calendar แบบใหม่นั้น การผลิตนาฬิกาพกที่มีฟังก์ชันปฏิทินและวงข้างขึ้นข้างแรมคือสิ่งที่คุณปู่เชี่ยวชาญที่สุด และหลังจากได้รับโจทย์ให้พัฒนากลไก Perpetual Calendar สำหรับนาฬิกาข้อมืออย่างเป็นทางการจาก IWC คุณปู่ได้ตั้งมั่นจะแก้ไขความยุ่งยากของการตั้งค่าต่างๆ เมื่อนาฬิกาหยุดการทำงานมาเป็นเวลานาน จากการใช้ปุ่มแยกตามฟังก์ชันมากมายเป็นการตั้งผ่านเม็ดมะยมเท่านั้น เพื่อป้องกันความเสียหายของกลไกจากการตั้งค่าต่างๆ ของปฏิทินในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกับการเปลี่ยนวัน

เมื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาแล้ว จึงได้คิดค้นกลไกแบบใหม่มีขนาดเล็กลงอย่างมาก, ใช้ชิ้นส่วนน้อยลงกว่าเดิม, ทนต่อแรงสั่นสะเทือนได้ดีขึ้น, แม่นยำในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน และที่สำคัญค่าใช้จ่ายในการผลิตลดลงมหาศาล และนี่คือจุดเริ่มต้นของผลงานชิ้นเอกของโลกนาฬิกาโดย Kurt Klaus ผู้สร้างสรรนาฬิกาข้อมือพร้อมฟังก์ชัน Perpetual Calendar รูปแบบใหม่ในชื่อคอลเลคชันว่า “Da Vinci”

ภาพร่างป้อมปราการของเมือง Piombinoภาพร่างป้อมปราการของเมือง Piombino และ
ภาพร่างต้นแบบของ IWC Da Vinci Perpetual Calendar 3750 

IWC Da Vinci Perpetual Calendar 3750

IWC Da Vinci ก้าวกระโดดครั้งสำคัญของโลกเวลา

     เมื่อกลไกชิ้นสำคัญถูกยกเปรียบเทียบไม่ต่างจากไฟที่เทพโพรมิธีอุสนำมาสู่โลกมนุษย์ จนนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ อย่างรวดเร็ว ดังนั้นตัวเรือนของนาฬิกาจะมีภาพลักษณ์ธรรมดาได้ยังไง งานออกแบบสถาปัตยกรรมป้อมประจำการของท่าเรือเมือง Piombino ที่ออกแบบโดย Leonardo da Vinci จึงถูกนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจให้กับสุดยอดนาฬิกา โดมโค้งของปราการถูกถ่ายทอดลงสู่รูปทรงตัวเรือนและขานาฬิกาทรงฮูด ที่มีลายเส้นเชื่อมต่อกันอย่างงดงาม และคอลเลคชัน Da Vinci นี้ยังทำให้เกิดสิ่งสำคัญต่างๆ ไล่เรียงได้ดังนี้ครับ

IWC Da Vinci Perpetual Calendar Chronograph Ref. 3750

IWC Da Vinci Perpetual Calendar Chronograph Ref. 3750

     นาฬิกาเรือนแรกของคอลเลคชัน นำเสนอระบบปฏิทิน Perpetual พร้อมบอกปีค.ศ แบบ 4 หลัก ที่ใช้งานได้จนถึงปีค.ศ. 2499 ควบคู่กับปฏิทินจันทรคติที่มีความแม่นยำคลาดเคลื่อนเพียง 1 วัน ในทุกๆ 177 ปี และเป็นครั้งแรกที่ปรับแต่งค่าทั้งหมดผ่านเม็ดมะยมทั้งหมด ด้วยความสามารถและความแม่นยำสูงขนาดนี้ แต่กลับเปิดตัวในราคาที่ต่ำกว่านาฬิกา Perpetual Calendar ของแบรนด์อื่นๆ มาก จึงทำให้ยอดสั่งจองของ Da Vinci 3750 มียอดจองมากกว่ายอดรวมของทุกแบรนด์รวมกันตลอดเวลาสองปีหลังการเปิดตัวในปี 1985

IWC Da Vinci Perpetual Calendar Chronograph Ceramic Case Ref. 3755

IWC Da Vinci Perpetual Calendar Chronograph Ceramic Case Ref. 3755

หลังจากผลตอบรับในรุ่นแรกดีมากๆ แทนที่จะยังคงผลิตนาฬิการุ่นแรกขายต่อไป IWC เลือกที่จะหาจุดพัฒนาใหม่ๆ อีกครั้ง เพื่อให้วงการนาฬิกาไม่หยุดการตื่นตัว ซึ่งในครั้งนี้ IWC จิ้มเอาวัสดุ Diamond Ceramic วัสดุที่แข็งและทนรอยขีดข่วนได้ดีที่สุดขณะนั้น แต่การขึ้นรูปและขัดแต่งก็ยากตามมาเป็นโจทย์ จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นนาฬิกา ”เซรามิกเรือนแรก” ของโลก ”จาก Zirconium Oxide” ในรูปแบบครอบเซรามิกทับบนตัวเรือน 18K Yellow Gold ในปี 1986 โดย IWC นำเสนอเซรามิกแบบใหม่นี้ถึงสองสีด้วยกัน คือ สีขาวและดำครับ

     จากผลงานปฏิวัติวงการในครั้งนี้ ทำให้ยอดขายนาฬิกา Perpetual Calendar ของ IWC ในช่วงปี 1985-1986 มีมากกว่า 2,000 เรือน ซึ่งเป็นยอดที่มากกว่าของทุกแบรนด์ในโลกรวมกันเสียอีก ซึ่งในยุคนั้นยอดสั่งจอง Perpetual Calendar ทั้งระบบแทบจะไม่ถึงหลักร้อยด้วยซ้ำ เนื่องจากก่อนการปฏิวัติในครั้งนี้ ราคาค่าตัวรวมการบำรุงรักษาแต่ละครั้งของนาฬิกา Perpetual Calendar สูงมากๆ จนมีผู้สามารถครอบครองได้ไม่มาก แต่แม้ยอดขายของทุกแบรนด์จะตกไป ก็ไม่มีแบรนด์ไหนโกรธ IWC เลยครับ เพราะความรักต่อวงการนาฬิกาของ IWC ที่แบ่งปันการพัฒนากลไกไม่สงวนไว้เพียงตัวเอง แบรนด์อื่นๆ สามารถนำไปใช้หรือต่อยอดได้ เพื่อประโยชน์ต่อวงการและไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงเหมือนครั้งที่เครื่องควอร์ทเข้ามาเขย่าโลกจักรกลอีก นั่นจึงทำให้นาฬิกา IWC Da Vinci เป็นนาฬิกาในระบบ Perpetual Calendar ที่ทุกแบรนด์ลุกขึ้นปรบมือยินดีในกำเนิดและยกตำแหน่ง “ดีที่สุด” ณ เวลานั้นให้กับประดิษฐกรรมเรือนนี้อย่างพร้อมเพรียง และนำแบบแผนการพัฒนาของคุณปู่ Kurt Klaus ไปประยุกต์พัฒนากันต่อจนทุกวันนี้ครับ




 

 

 

ข้อมูลและรูปอ้างอิงจาก
- https://www.iwc.com/en/company/history.html
- https://monochrome-watches.com/iwc-da-vinci-history-1969-2017/
- https://revolutionwatch.com/epoch-light-iwc-perpetual-calendar/
- https://www.watch-wiki.net/doku.php?id=Klaus,_Kurt
- http://qp.granularit.com/media/38780/QP27_DaVinci.pdf